วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันลอยกระทง


ลอยกระทง เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆ กัน ในปีนี้ วันลอยกระทง ตรงกับ วันพุทธที่ 28 พฤศจิกายน 2555
ประเพณีลอยกระทง มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ก็มีการลอยกระทงคล้ายๆ กับบ้านเรา จะต่างกันบ้าง ก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทง ก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมมาบอกเล่าให้ทราบกันดังต่อไปนี้
ทำไมถึงลอยกระทง การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่ง ก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา

นอกจากนี้ ลอยกระทง ก็ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทง เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย
พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทง อาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้ว จึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่า ได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษ และขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดี ที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง
ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อน เรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป
ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอก ของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำ ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลาย ตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศพระสนมเอก ก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษ ที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็น ก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน


ตำนานและความเชื่อ จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้
เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐาน และบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล
พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาค ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอม และดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำ เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆ มาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทง ตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐาน ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลาย จึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา 3 เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัท พากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์ และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทง เพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า
สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีป เพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาด ลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรา มักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย
เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท และการรับเสด็จพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน)
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพม่า เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปาก และปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราช จึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทง เพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาค ก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้ เป็นที่นับถือของชาวพม่า และชาวพายัพของไทยมาก
เรื่องที่สี่ เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า เกิดอหิวาต์ระบาด ที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิม และหงสาวดีเป็นเวลา 6 ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำ เพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าว จะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า (การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืน และมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆ คล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทง ที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆ แวมๆ คล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว)
รื่องที่ห้า กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน ทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึม และขมุกขมัวให้เห็นขลัง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุดเทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่าง เพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ (ปั่งจุ๊ยเต็ง) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้า หรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชน ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง
ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะเป็นประเพณีที่มีคุณค่า ในเรื่องการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้ว ประเพณีนี้ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสานาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญ ก็ถือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆ แห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองไปด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงในเน็ต สำหรับชาวกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง เพื่อลดขยะที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะยิ่งทำให้การระบายน้ำช้าลง คลิกที่นี่หรือที่รูปด้านล่างเพื่อ ลอยกระทงออนไลน์ กับสนุกดอทคอม ได้เลย

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา


วันออกพรรษา
 หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทยวันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” ใน วันออกพรรษา นี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วยซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

สำหรับ คำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีเป็นดังนี้ “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้วจักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะจัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอด เมื่อถึง วันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจาก วันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัด วันออกพรรษา หนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย
วันออกพรรษา
กิจกรรมในวันออกพรรษา
วันออกพรรษา นี้พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นโอกาศอันดีที่จะกระทำ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัดและฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศล “ตักบาตรเทโว” ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกิจกรรม “ตักบาตรเทโว” (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับ วันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
กิจกรรม ประเพณีวันออกพรรษา ของไทย
1. ประเพณีออกพรรษา แห่ปราสาทผึ้ง และการแข่งขันเรือยาว จังหวัด สกลนคร
2. ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด จังหวัด แม่ฮ่องสอน
3. ประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัด อุทัยธานี
4. ประเพณีบุญแห่กระธูป จังหวัด ชัยภูมิ
5. ประเพณีชักพระ ทอดพระป่า และแข่งขันเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
6. งานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค จังหวัด หนองคาย
7. ประเพณีลอยผาสาด ดารดาษนทีโขง จังหวัด เลย
8. เทศกาลงานบุญออกพรรษา จังหวัดมุกดาหาร
9. ทำบุญตักบาตรสองแผ่นดิน เหนือสุดในสยาม จังหวัด เชียงราย
10. งานประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง
11. ประเพณีแข่งโพนลากพระ จังหวัด พัทลุง


วันปิยะมหาราช

๒๓ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราชหรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคมส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น

          ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์  

พระราชประวัติ
          พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฬ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖
          ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร
          นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช ๒๔๑๖ ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน
          ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา
          หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑
  พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒
    เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจ วันปิยมหาราช 
          ด้านการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงผสมผสานประเพณีการปกครองของไทยกับต่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council  of  State) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ และตั้งสภาองคมนตรี (Privy  Council)   ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๑  ทรงตั้งกรมขึ้นใหม่อีก ๖ กรม  รวมกับของเดิมเป็น ๑๒ กรม   กรมเหล่านี้ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงให้ยกฐานะเป็นกระทรวง  ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๗  อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
          ด้านเศรษฐกิจและการคลัง   ในปี พ.ศ.๒๔๑๖  ทรงให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อเก็บรายได้ของแผ่นดินมารวมไว้แห่งเดียวกัน   และให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก ที่สำคัญคือทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกันโดยเด็ดขาด ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล
          ด้านกฎหมายและการศาล ทรงสถาปนากระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ.๒๔๓๔ มีการชำระพระราชกำหนดกฎหมาย  มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ เป็นฉบับแรก  ทรงสถาปนาโรงเรียนกฎหมายและทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชากฎหมายในทวีปยุโรป   เพื่อกลับมาพัฒนากฎหมายไทยต่อมา
          ด้านการต่างประเทศ  ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเจริญพระราชไมตรี กับนานาประเทศทั่วโลก มีการส่งอัครราชทูตไปประจำต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๒๔  นอกจากนี้ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ และ พ.ศ.๒๔๕๐ เพื่อนำความเจริญต่างๆ มาปรับปรุงบ้านเมืองให้พัฒนาก้าวหน้าอีกด้วย
          ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างการวางรูปแบบทางการทหารของชาวยุโรป  มาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมใช้กับประเทศไทย  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมการบังคับบัญชาทหารบกและทหารเรือเป็นกรมยุทธนาธิการ  นอกจากนี้ ยังทรงให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๘  มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกเป็นครั้งแรก พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยทหารบกและโรงเรียนนายเรือ  ตลอดจนทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหาร  ณ  ทวีปยุโรป
          ด้านการศึกษา ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรม มหาราชวังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ แล้วขยายออกสู่ประชาชน   โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม  ในปี พ.ศ.๒๔๒๗  นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มการจัดตั้งหอพระสมุด  พิพิธภัณฑสถานและโบราณคดีสโมสรด้วย
          ด้านการศาสนา ในปี พ.ศ.๒๔๓๑โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์  พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรกและในปี พ.ศ.๒๔๔๕โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรก  นอกจากนี้  ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำรัชกาล อีกด้วย
          การเลิกทาส   ทรงมีพระราชดำริว่า  “การมีทาสเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของบ้านเมือง”   เพื่อให้ระบบทาสค่อยๆ หายไปจากสังคม  จึงเริ่มด้วยการ “พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทย” ขึ้นก่อน หลังจากนั้นทรงโปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๔”  ให้เลิกทาสทั่วพระราชอาณาเขต
          การคมนาคมและการสื่อสาร  ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างทางรถไฟและตัดถนนขึ้นหลายสาย  ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์  สร้างสะพานเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์เป็นประจำทุกปีในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๘ เป็นต้นมา  นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๒๔๑๘ ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดสร้างและดำเนินการการโทรเลขขึ้น โทรเลขสายแรกในประเทศไทย  คือ  สายกรุงเทพ – สมุทรปราการ
          การสาธารณูปโภคและสาธารณสุข  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เรียกว่า“พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.๑๑๖”   ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ จัดตั้งสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดในปัจจุบัน) ขึ้น
          ด้านวรรณกรรมและศิลปกรรม ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองอันทรงคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก  ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่ๆ เป็นตึกขึ้นหลายองค์แทนพระที่นั่งเดิมซึ่งทำด้วยไม้และเริ่มผุผัง ที่สำคัญที่สุด คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   ในปลายรัชกาลทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิต และพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นตึกหินอ่อนขนาดใหญ่ที่เสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย
          การเสด็จประพาสต้น   เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง  เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับ  ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟบ้าง  เรือบ้าง  เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร   ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของพสกนิกรทั้งปวง  จึงได้พร้อมใจกันถวายพระสมัญญานามว่า “พระปิยมหาราช” และร่วมกันออกทุนทรัพย์สร้างพระบรมรูปทรงม้าไว้บริเวณลานพระราชวังดุสิต   เพื่อเป็นที่เครารพสักการะอยู่ชั่วนิรันดร์

พระบรมรูปทรงม้า ของพระปิยมหาราช 
          พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2451 ด้วยเงินที่ประชาชนได้เรี่ยไรสมทบทุน โดยจ้างนายช่างชาวฝรั่งเศสแห่ง บริษัทซุซ เซอรเฟรส ฟองเดอร์ หล่อมาจากกรุงปารีส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง ส่วนเงินที่เหลือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำไปสร้างมหาวิทยาลัยขึ้น มีนามตามพระปรมาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
          พระบรมรูปทรงม้า ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ในสตูดิโอของจอร์จ เซาโล  ณ กรุงปารีส ในภาพจะเห็นทั้งปฏิมากรและบรรดาผู้ช่วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินเยือนสตูดิโอแห่งนี้เพื่อประทับ เป็นแบบให้เซาโล ระหว่างการเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙
ที่มา www.hunsa.com

เทศกาลกินเจ

ล้างท้องก่อนกินเจ ข้อห้ามในการกินเจ รวมถึงการกินเจที่ถูกต้อง
เทศกาลกินเจ (จีน: 九皇爺; อังกฤษ: Nine Emperor Gods Festival) หรือบางแห่งเรียกว่า ประเพณีถือศีลกินผัก[1] เป็นประเพณีแบบลัทธิเต๋ารวม 9 วัน กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนมานานแล้ว โดยมีตำนานเล่าขานกันหลายตำนาน ปัจจุบัน เทศกาลกินเจจัดขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ตลอดจนหมู่เกาะรีออในอินโดนีเซีย ซึ่งการกินเจในเดือน 9 นี้ เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2170 ตรงกับสมัยอาณาจักรอยุธยา
ข้อห้ามในการกินเจ 10 ข้อ
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อแรก การงดกินผักฉุนหรือผักที่มีกลิ่นแรง ซึ่ง ประกอบไปด้วยพืชผัก 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม (หัวกระเทียม, ต้นกระเทียม) หัวหอม (ต้นหอม, ใบหอม, หอมแดง,หอมขาว,หอมหัวใหญ่) หลักเกียว (ลักษณะคล้าย หัวกระเทียม แต่เล็กกว่า) กุ้ยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า) ใบยาสูบ (บุหรี่,ยาเส้น,ของเสพติดมึนเมา) ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง นอกจากนี้ยัง ให้โทษทำลายพลังธาตุในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลัก สำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานไม่ควรรับประทาน พราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์ กระตุ้นจิตใจและอารมณ์ให้เร่าร้อน ใจคอหงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวไม่ติด จิตใจจะไม่บริสุทธิ์ ซึ่งในข้อห้ามนี้มีบางคนยังข้องใจกันมาก คือ กระเทียมซึ่งทางการแพทย์และเภสัชกรพบว่า สามารถรับประทานเป็นยาได้ ทั้งนี้เพราะเป็นสารที่มีประโยชน์สามารถละลายไขมันในเส้นเลือดได้ เช่น ผู้ป่วยที่ เป็นโรคเส้นโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน เป็นต้น แม้ทางการแพทย์แผนโบราณก็ยืนยันตรงกันว่ากระเทียมเป็น สมุนไพรรักษาโรคได้ แต่คนจีนที่ปฏิบัติในการกินเจถือว่าให้โทณกับหัวใจ ซึ่งในข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อของ แต่ละคน
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่สอง การงดกินเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบไปด้วย เนื้อวัว หมู ปลา หรือสัตว์มีชีวิตที่ใช้เป็น อาหารได้ เพราะ คนจีนเชื่อว่าก่อนตายมันจะตกอยู่ในอาหารตกใจกลัวเมื่อเรากินมันเข้าไป อาจจะทำให้เรามีบาปติดตัวไปด้วย เพราะมันคือสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับคน ข้อนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนจีนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่มาถึงปัจจุบัน ……….บางคนเริ่มหาข้อคัดค้านว่าสัตว์บางชนิดอย่าง หอยหรือปลาเล็กๆ ก็น่าจะรับประทานได้เพราะมันเป็นสัตว์ไม่มีเลือด ตามความเชื่อแล้วมันขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ถ้าในความเป็นจริงแล้ว คนจีนเขาเชื่อว่าประเพณีนี้ศักดิ์สิทธิ์ถ้าปฏิบัติ ให่เคร่งครัด ถึงจะมีคนคัดค้านแต่กับข้อนี้คงไม่ได้ผล
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่สาม ไม่ควรกินอาหารรสจัด ซึ่ง ไม่ใช่แค่รสเผ็ดอย่างเดียว รวมไปถึงรสเค็มมาก หวานมากหรือเปรี้ยวมาก ด้วย ซึ่งปกติคนจีนจะไม่กินรสจัดอยู่แล้วเพราะถือว่าจะเข้าไปทำลายสุขภาพ อย่างกินเผ็ดจัดก็จะไปทำลาย กระเพาะ กินเค็มมากจะไปทำลายไตได้ และอีกอย่างน้ำปลาก็ทำมาจากสัตว์เหมือนกัน ข้อห้ามนี้ถือว่าถูกหลักของ การแพทย์ แต่บางคนที่ปฏิบัติไม่เคร่งครัดนัก เช่น ชอบรสเค็มจัดก็ใช้เกลือแทนน้ำปลา อันนี้ถือว่าไม่ผิด
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่สี่ ต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันปรุง ซึ่งข้อนี้ถ้าปฏิบัติได้จะถือว่าบริสุทธิ์จริงๆ แต่ถ้าทำให้เกิดความยาก ลำบากก็ไม่จำเป็น จะได้ไม่ต้องเลือกร้านกันจ้าละหวั่น ฉะนั้นคนที่ปรุงอาจจะไม่ได้กินเจก็ได้แต่ขอให้อาหารที่กินเข้า ไปเป็นอาหารเจก็พอ
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่ห้า ถ้วยชามจะต้องไม่ปนกัน เพราะ เขาถือเคร่งครัดว่าอาหารคาวซึ่งชาวจีนเรียกว่า ‘ ชอ ‘ นั้น ถ้วยชาม จะใช้ปนกันไม่ได้ จะถือว่าล้างสะอาดหมดจดแล้วจึงเอามาใช้ก็ผิดอีก บางคนคิดว่าล้างให้สะอาดมากๆ ก็ไม่จำเป็น ต้องแยก แต่ข้อนี้ถือว่าเป็นธรรมเนียมเหมือนอย่างอิสลามที่ไม่ยอม ใช้ถ้วยชามปนกัน เหมือนของจีนนั่นแหละ
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่หก ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ข้อ นี้ตรงกับการรักษาศีลของชาวพุทธ การฆ่าสัตว์ของชาวจีนตั้งแต่สัตว์เล็กๆ ไป จนถึงสัตว์ใหญ่เป็นข้อเคร่งครัดเช่นกัน บางคนสงสัยอีกว่าอย่างถ้าเป็นยุงหรือมดฆ่าได้ไหมตามความเชื่อแล้วห้าม เด็ดขาดไม่เช่นนั้นจะถือว่า ปฏิบัติไม่ครบ
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่เจ็ด แต่งกายด้วยชุดขาว ข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็ใส่ชุดสีขาวตลอดจนถึงออกเจเพราะเชื่อกัน ว่านอกจากงดอาหาร ต่างๆ ในร่างกายสะอาดแล้วภายนอกแม่จะเป็นเครื่องแต่งกายก็ต้องสะอาดด้วย ข้อนี้ไม่ใคร่ เข้มงวดสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติอยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปที่แจตั๊วหรือสถานที่ทำพิธีกินเจ
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่แปจาด พูดเราะ คนที่ถือศีลกินเจไม่ใช่เพียงแต่กินของสะอาดเท่านั้น แต่คำพูดที่พูดออก จากปากก็ต้อง สะอาดด้วย สิ่งไม่ดีทั้งหลายไมควรพูดหรือที่เรียกว่า ‘ ปากเจ ‘ ซึ่งประกอบไปด้วย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดยุแหย่ ไม่พูด เพ้อเจ้อ ถ้าปฏิบัติได้ก็ถือว่าสะอาดทั้งหมด
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่เก้า งดดื่มสุราและของมึนเมา ตลอดช่วงเวลา 9 วัน ……….ข้อนี้สำคัญเพราะการงดอาหารที่เป็นของคาวแล้วสิ่ง ที่สร้างความมึนเมาหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกายก็ห้ามเข้าสู่ร่างกายด้วย
ข้อห้ามในการกินเจ ข้อที่สิบ ห้ามดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง คนที่จะไปกินเจมักจะไปชุมนุมกันที่แจตั๊วหรือสถานที่กินเจ ณ ที่นั้น เขาจะประดับดอกไม้ตั้งโต๊ะบูชา วางกระถางธูปและตั้งเครื่องเจ ต่างๆ นอกจากนี้ ก็จุดโคม 9 ดวงเพื่อสมมติเป็น ‘ เก๊าฮ้วงฮุดโจ้ว ‘ นั่นเอง ซึ่งจะต้องจุดไว้ทั้งกลางวันและ กลางคืนจนตลอดงานทีเดียว ถ้าดับโคมไฟดวงใดดวงหนึ่ง ก็จะถือว่าไม่เป็นสิริมงคลและไม่ครบถ้วนพิธีการกินเจ…
การกินเจที่ถูกต้อง
- ผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม เนย หัวหอม กระเทียม กุยช่าย หลักเกียว และใบยาสูบ คนกลุ่มนี้ต้องเติมอาหารที่มีกรดอะมิโนทดแทน ประเภทถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ เป็นการเสริมสารอาหารจำพวกโปรตีน ธาตุเหล็ก
- ผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ หัวหอม กระเทียม หัวไชเท้า กุยช่าย พริกแดงแต่ดื่มนมแทน กลุ่มนี้นอกจากอาหารประเภทถั่วเมล็ดแห้งแล้ว ควรเสริมกลุ่มเกลือแร่และกินผักผลไม้ช่วยด้วยจะเป็นการดี
- ผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์แต่กินไข่และนมเนยทุกชนิด ร่างกายของคนกลุ่มนี้จะยังได้รับสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมอย่างพอ เพียง รูปแบบของการกินประเภทนี้เด็กที่ต้องการกินเจก็สามารถร่วมกิจกรรมได้
- อย่าเลือกรับประทานแต่ผักเพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบ จึงควรทานธัญพืช เช่น เมล็ดงา ลูกเดือย ลูกบัว หรือพืชตระกูลถั่ว หรือถั่วแปรรูปอย่างเต้าหู้ และพืชจำพวกที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก มัน กลอย ร่วมไปด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็น
- คนกินเจควรบันยะบันยังในเรื่องของการบริโภคแป้งในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงอาหารที่ผัด ทอดที่ใช้น้ำมันมาก กลายเป็นอาหารไขมันสูง เป็นที่มาของโรคอ้วนในที่สุด ทางที่ดีจึงควรเลือกอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยการต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด จากการใช้ซีอี๊วขาว เต้าเจี้ยว หรือเกลือแทนน้ำปลา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อไตและความดันโลหิตสูงได้
- ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด เพราะจะส่งผลไปถึงอวัยวะต่างๆ ขมจัดส่งผลต่อหัวใจ เค็มจัดส่งผลต่อไต หวานจัดส่งผลต่อม้าม เปรี้ยวจัดส่งผลต่อตับ เผ็ดจัดส่งผลต่อปอด
- ควรรับประทานอาหารสดที่ปรุงใหม่ หรือผักสดผลไม้ มากกว่าของหมักดองหรืออาหารกระป๋องสำเร็จรูป
- ควรล้างทำความสะอาดพืช ผัก ผลไม้ที่นำมาปรุงอาหารเพื่อลดสารพิษที่อาจปนเปื้อน
อย่างไรก็ตามอย่าลืมที่จะออกกำลังกายร่วมด้วยจะเป็นส่วนช่วยเสริมทำให้สุขภาพแข็งแรงได้ดียิ่งขึ้น
ประโยชน์ของการกินเจ
ประโยชน์ของการกินเจในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณ
    ให้พลังเย็น โดยได้รับพลังงานจากฟรุกโตส ซึ่งมีในผักและผลไม้ เป็นพลังงานที่ไม่ทำร้ายร่างกาย
    ช่วยขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้าง เพราะกากใยในพืชผักช่วยระบบการย่อยและระบบขับถ่าย ทำให้ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ รวมถึงโรคที่เกิดจากระบบขับถ่ายผิดปกติต่างๆ เช่น โรคริดสีดวงทวาร
    หากรับประทานเป็นประจำ จะช่วยฟอกโลหิตในร่างกายให้สะอาด เซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะเสื่อมช้าลง ทำให้ผิวพรรณผ่องใส มีอายุยืนยาว สายตาดี แววตาสดใส ร่างกายแข็งแรง มีความต้านทานโรค มีความคล่องตัว รู้สึกเบาสบายไม่อึดอัด
    ทำให้ปราศจากโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคตับ โรคสำไส้ โรคเกาต์ ฯลฯ เพราะได้รับอาหารธรรมชาติที่มีประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ และยังช่วยป้องกันโรคร้ายเหล่านี้
    อวัยวะหลักของร่างกาย และอวัยวะเสริมทั้ง ๕ ทำงานได้อย่างเต็มสมรรถภาพ อวัยวะหลัก ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด
    อวัยวะเสริมทั้ง ๕ ได้แก่ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะ ปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี
    ผู้ที่กินเจ จะมีร่างกายที่สามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่
    ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีที่เป็นอันตราย อื่นๆ
    อวัยวะหลัก ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด
    มลภาวะที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทั้งจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งมีปะปนอยู่ในอากาศรวมถึงแหล่าอาหารและน้ำดื่ม
    กัมมันตภาพรังสี จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และ การทำสงคราม สารอาหารจากพืชพัก ช่วยให้เซลล์ในร่างกายทนต่อการทำลายจากกัมมันตภาพรังสีได้
    ในทางการแพทย์ การกินเจ มีประโยชน์ในการรักษาโรคที่สามารถพิสูจน์และมองเห็นได้จัดเจนกว่า ประโยชน์ในทางศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่ละเอียดเท่าเรื่องของศาสนาจึงสามารถมอง เห็นได้ง่ายกว่าเป็นธรรมดา แม้ว่าการปฎิบัติจะไม่เคร่งครัดเท่ากับความต้องการประโยชน์ทางด้านศาสนา
อานิสงส์ 10 ข้อ ของการไม่กินเนื้อสัตว์ (กินเจ)
              อานิสงส์ขั้นต้นของการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์และไม่เบียดเบียนสัตว์ คือ จะทำให้ชีวิตของเราไม่ต้องตายด้วย ปืนผาหน้าไม้ คมหอกคมดาบ ไม่่ตายด้วยเหตุกาณ์อันน่าสยดสยองหรือภัยพิบัติต่างๆ ทั้งยังสามารถตัดกรรมในเรื่องการฆ่าและยุติการจองเวรกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย อีกด้วย องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระผู้เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาอันมิ อาจประมาณได้ทรงรักใคร่สรรพสัตว์ทั้งหลายประดุจลูกในอุทรของพระองค์เองเมื่อ ได้บรรลุอนุตตรสัมโพธิญาณสูงสุดแล้ว ก็ยังทรงมีพระทัยห่วงใยปรารถนาให้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ได้หลุดพ้นออกจากบ่วงกรรมและระงับดับการจองเวรซึ่งกันและกัน ในบรรดา บาปกรรมทั้งหลายที่คนหลงผิดกระทำไปการเบียดเบียนฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่นถือ เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรงที่สุดแม้ว่าจะกระทำลงไปโดยไม่เจตนา ก็ยังต้องไปรับโทษ นับประสาอะไรกับการจงใจเจตนาฆ่าเขาให้ตาย โทษทัณฑ์์นั้นจะ ยิ่งใหญ่ หลวงและ ไม่อาจให้อภัยได้ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงมี พระประสงค์ ์ให้เราทุกคนละเว้นจาก การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเลิกเบียดเบียนผู้อื่นโดยเด็ดขาด พระองค์จึงทรงบัญญัติ ศีลข้อ “ปาณาติบาต” คือห้ามการฆ่า เป็นข้อที่สำคัญอันดับหนึ่ง ขอให้เราจง มาร่วมกันศึกษาพิจารณาพระพุทธวจนะว่าด้วยเรื่อง “อานิสงส์ 10 ข้อของการ ไม่กินเนื้อสัตว์” เพื่อจักได้นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติและบำเพ็ญธรรม ให้สูงขึ้นไป ในพระสูตรของพระพุทธศาสนามหายานเล่าว่า
“สมัยหนึ่ง… องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จไปเทศนาโปรดบรรดาเหล่าพญานาคทั้งหลาย พระพุทธองค์ ได้ทรงตรัสธรรมกถาวิสัชนาแสดงแก่พญานาคราชความว่า “
บุคคลใด หยุดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และงดเว้นเสียจากการเสพเลือดเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังชี้นำส่งเสริมให้หมู่ชนทั้งหลายหยุดฆ่า หยุดเสพชีวิตเลือดเนื้อผู้อื่น บุคคลผู้นั้นย่อมห่างไกลจากอกุศลมูล ทั้งปวง และบริบูรณ์พร้อมด้วยอานิสงส์ ทั้ง 10 ประการอันได้แก่
       1. เป็นที่รักใคร่ของบรรดาเทพ พรมตลอดจนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
       2. จิตอันเป็นมหาเมตตาย่อมบังเกิดขึ้น
       3. สามารถตัดขาดความอาฆาต ดับอารมณ์***มโหดเครียดแค้นในใจลงได้
       4. ปราศจากโรคภัยร้ายแรงมาเบียดเบียนร่างกาย
       5. มีอายุมั่นขวัญยืน
       6. ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากวัชรเทพทั้งแปด
       7. ยามหลับนิมิตรเห็นแต่สิ่งที่ดีงามเป็นศิริมงคล
       8. ย่อมระงับการจองเวร สลายความอาฆาตแค้นซึ่งกันและกัน
       9. สามารถดำรงอยู่ในกระแสแห่งนิพพาน ไม่พลัดหลงตกลงสู่อบายภูมิ
       10. ทันทีที่ละสังขารจากโลกนี้ จิตญาณจะมู่งสู่คติภพ

ที่มา :